แม่ย่านาง ผู้ปกปักรักษายานพหนะ 

แม่ย่านาง

           แม่ย่านาง คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยเคารพนับถือว่าคอยคุ้มครองปกป้องกันภัย ให้แก่พาหนะ เช่น รถ เรือ หรือเชื่อว่าสิงสถิตอยู่ในรถ ในเรือ และให้คุณให้โทษแก่ผู้ขับขี่โดยสารได้
                ตำนาน ความเชื่อเกี่ยวกับแม่ย่านางนั้นมีอยู่ว่า เมื่อพระอิศวรและพระแม่อุมาเสด็จประพาสทะเล มีกุ้งได้ออกมาร้องเรียนว่าตนเองเป็นสัตว์ที่ร่างกายมีแต่เนื้อ เปลือกห่อหุ้มบาง ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ทำให้ถูกบรรดาสัตว์น้ำอื่นๆ จับกินเสียมาก พระแม่อุมาจึงประทานพรให้กุ้ง มีเลื่อยสองคมปลายแหลมอยู่บนหัว มีหอกปลายแหลมอยู่ที่หาง เมื่อสัตว์ใดกินเข้าไปจะได้ใช้หางเจาะออกมาให้เข็ดหลาบ ซึ่งอาหารที่กุ้งสามารถกินเองได้ จะต้องเป็นของที่ตายเน่าเปื่อยเท่านั้น
              จากนั้นจึงทำให้ประชากรกุ้งจึงมีมากจนเสียสมดุล กั้งจึงมาชักชวนผสมพันธ์แล้วออกอุบาย ว่าให้กุ้งใช้อาวุธที่ติดตัวเจาะท้องเรือสำเภาให้จม เมื่อจีนคนไหนว่ายน้ำไม่เป็นก็จะจมน้ำตายกลายเป็นอาหาร ส่วนหัวแบ่งให้กั้ง ส่วนตัวกุ้งก็เอาไปกิน ด้วยเหตุนี้ เรือสำเภาจึงตกเป็นเป้าและได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พวกนายสำเภาจึงได้วิงวอนขอให้เจ้าหมาจ่อช่วยบอกกล่าวเทพเจ้าให้มาช่วยเหลือ เจ้าหมาจ่อที่สงสารชาวเรือ จึงบอกให้นำของมาเซ่นไหว้พลีกรรม ได้แก่ ผ้าแพรสีแดง สีทับทิม สิ่งละสิบพับ กับดอกไม้ธูปเทียน สำหรับเจ้าที่

          เมื่อได้รับของถวายแล้ว เจ้าหมาจ่อจึงให้นายทหารนำของไปถวายเจ้าทั้งแปดทิศ แล้วร่วมปรึกษาหารือกันว่าจะนำความไปกราบทูลพระอิศวรและพระแม่อุมาเทวีให้ตัดสินปัญหา พระแม่อุมาจึงสั่งให้พระอนันตนาคราชไปปราบกุ้งที่ผิดคำสัตย์และใช้อุบายทำให้มนุษย์เดือดร้อน จากนั้นพระอนันตนาคราชรับโองการ ลงไปถึงพระคงคา กุ้งที่ทำผิดก็ร้อนตัวกลัวจนกระเพาะและของเก่าใหม่ขึ้นมาบนสมอง จากนั้นจึงถูกสาปให้เรือสำเภาน้อยใหญ่ที่พวกตนเจาะให้ล่มเข้าไปอยู่ในแก้ม ซ้ายขวา ถ่วงหัวไม่ให้เงยขึ้นมาเจาะเรือสำเภาได้อีก แล้วพระอนันตนาคราชจึงสั่งให้จีนเดินสมุทรทั้งหลายนับถือเจ้ายอดสวรรค์ ให้คุ้มครองรักษาเรือสำเภาทุกเที่ยวไปมาจนติดมากระทั่งทุกวันนี้

แม่ย่านาง 2

                            ด้วยเหตุนี้เอง “แม่ย่านาง” จึงได้กลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเทพ ผู้พิทักษ์ปกป้องคุ้มครอง พาหนะทุกประเภท ทั้งเรือ รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ที่ให้คุณให้โทษได้ ผู้ขับขี่จึงมีความเคารพยำเกรงต่อแม่ย่านาง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ในสมัยที่การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ทางน้ำ ประชาชนนิยมโดยสารเรือเป็นหลัก ก็มีการบวงสรวงแม่ย่านางเรือ โดยเฉพาะเรือพระราชพิธีที่ใช้ในการพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ก่อนออกแล่นเรือจริงต้องมีการนำเครื่องบูชามาทำพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อบอกกล่าวแม่ย่านางที่สิงสถิตอยู่กับเรือแต่ละลำได้รับรู้และ ปกปักรักษาอย่าให้เกิดอุบัติเหตุเภทภัยใดๆ สำหรับเรือชาวบ้านก็มีการบวงสรวงเช่นกัน ผู้ที่มีความศรัทธา มักนิยมนำผ้าสามสีมาผูกที่หัวเรือ เพื่อแสดงความเคารพแก่แม่ย่านางและเพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่เรือนั้นๆ
                              ชาวประมงมีความเชื่อว่าแม่ย่านางจะคุ้มครองทุกคนให้ปลอดภัยในการเดินเรือและ ช่วยให้หาปลาได้มาก ดังนั้นก่อนออกเรือจึงต้องมีการกราบไหว้แม่ย่านางทุกครั้งและเซ่นสังเวยแม่ย่านาง ก่อนที่จะนำเรือออกทำกิจการต่างๆ สังคมชาวประมงยังยึดมั่นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น การปฏิบัติตามความเชื่อใดทำให้แม่ย่านางพอใจต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่ สุด ไม่เช่นนั้นแม่ย่านางอาจจะไม่พอใจและจะนำความพินาศมาสู่เรือได้ เช่น

-ไม่ทะเลาะกันขณะอยู่ในเรือ 

    -ไม่ทำเรือสกปรก

    -ไม่ดื่มสุราก่อนออกจากเรือ

    -ไม่เหยียบโขนเรือ

    -ไม่นำผู้หญิงมาร่วมเพศในเรือ

แม่ย่านาง 3

เกร็ดความรู้เล็กน้อย- กับข้อสงสัยที่ว่าทำไม แม่ย่านาง ถึงไปอยู่ในรถได้

                ความเชื่อฉบับไทยที่ถูกประยุกต์มานั้น กล่าวเอาไว้ว่าแม่ย่านางนั้นเป็นเทพารักษ์ที่สถิตอยู่หัวเรือ ชาวเรือได้ทำการสักการะด้วยผ้าสามสี พวงมาลัย เครื่องเซ่นต่าง ๆ เพื่อเป็นการบูชาให้ท่านได้ช่วยคุ้มครองให้การเดินทางมีความปลอดภัย

                 แต่ในเวลาต่อมาเมื่อมีการสัญจรทางบกมากขึ้น และมีการนำรถเข้ามาใช้แทนเรือ จึงมีความเชื่อว่าแม่ย่านางได้ติดมากับพาหนะแบบใหม่ด้วย ทำให้จากเดิมที่ท่านเป็นเพียงเทพีประจำเรือ ก็กลายมาเป็นเทพีประจำพาหนะทุกประเภท และจากเดิมที่เชื่อว่าท่านสถิตอยู่ที่หัวเรือ ก็มาประจำการอยู่ที่ “หน้าคอนโซลรถ” แทน จึงจะเห็นได้ว่าผู้บูชาแม่ย่านางจะผูกผ้าสามสีหรือแขวนพวงมาลัยไว้ที่กระจกหน้ารถและตั้งเครื่องรางต่าง ๆ ไว้ที่บริเวณใกล้เคียง

                นอกจากเรื่องของความคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัยในการเดินทางสัญจรแล้ว ยังมีความเชื่อในเรื่องของโชคลาภ บูชาแล้วร่ำรวย ทำมาค้าขึ้นอีกด้วย ดังนั้นหลาย ๆ คนเมื่อออกรถใหม่ก็จะมีการบูชาสักการะแม่ย่านางก่อนนำรถไปใช้ลงถนน เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อผู้ขับขี่ให้โชคดีปลอดภัยตลอดเส้นทางและสร้างความอุ่นใจทุกครั้งที่ขับขี่รถนั่นเอง

เครดิตภาพ 

https://file.chobrod.com/2021/08/10/dbaR99EI/-eb47-40af-372e.jpg

https://file.chobrod.com/2021/08/10/dbaR99EI/-d365-4713-30ac.jpg

https://s.isanook.com/gu/0/rp/r/w300/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL2d1LzAvdWkvMS83ODc5LzI2MjUzNl9fMjQwNDIwMTIwMjAyMjguanBn.jpg

บทความที่คุณอาจสนใจ ผีหัวขาด ผีไทยในตำนาน